คุณธรรมมุสลิม

ขอความสันติสุขจงมีแด่มุลีมีน มุสลีมาตทั้งหลาย

มวลการสรรเสริญแด่เอกอัลลอฮ ซบ. ขอความสันติสุข และความโปรดปรานจงมีแด่ศาสดามุหัมมัด ศ็อลฯ บรรดาเศาะหาบะฮ ตาบีอีน ตาบีอิตตาบีอีน ตลอดจนมุสลีมีน มุสลีมาตทั้งหลาย
เพื่อนนักเรียนที่มีเกียรติทั้งหลาย
หากเราจะกล่าวถึง คุณธรรมจากอัล-กุรอานนั้นแล้ว เราจะพบว่าในเวลาอันน้อยนิดนี้ เราไม่สามารถที่จะกล่าวถึงคุณธรรมจากอัล-กุรอานได้ทั้งหมดในเวลาอันจำกัด ดังนั้นดิฉันขอหยิบยกเพียงบางส่วนเท่านั้น เพื่อเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับเราทุกคน
คุณธรรมอันสูงสุดนั้น คือ การที่มนุษย์สำนึกในความเป็นข้าทาสของตนเอง ต่อพระผู้เป็นเจ้า ด้วยใจอันบริสุทธิ์ จิตใจผูกพัน กับพระองค์ตลอดเวลา ท่านศาสดามุหัมมัด (ช.ล.) กล่าวไว้ ความว่า
"อิหฺซาน คือ การที่ท่านปฏิบัติการนมัสการอัลลอฮฺ ประหนึ่งท่านเห็นพระองค์ แม้ท่านไม่สามารถเห็นพระองค์ แต่พระองค์ ทรงมองเห็นท่าน"
ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้านั้น จะเป็นสายสัมพันธ์อันแน่นเหนียว ซึ่งก่อให้เกิดความประพฤติที่ดีงาม ทั้งที่กระทำต่อพระผู้เป็นเจ้า และกระทำต่อมนุษย์ สายสัมพันธ์สองด้านนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสันติสุข และสันติภาพ ถาวรในโลกนี้
หากใครขาดสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าคือเขาขาดสายสัมพันธ์กับพระเจ้า และ กับเพื่อนมนุษย์ เขาก็ตกต่ำอยู่ในความอัปยศ ดังปรากฏในอัลกุรอาน บทที่ 3 โองการที่ 112
ความว่า
"พวกเขาจักประสบความตกต่ำ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ยกเว้นโดยเหตุที่พวกเขา มีความสัมพันธ์ต่ออัลลอฮฺ และสัมพันธ์ต่อมนุษย์"
หลักคุณธรรม แบ่งออกได้เป็น 2 ด้าน
1. คุณธรรมที่ต้องประพฤติ
2. คุณลักษณะที่ละเว้น

คุณธรรมที่ต้องประพฤติ
หมายถึงความดีต่างๆ ที่ต้องประพฤติอยู่เสมอ อันได้แก่หน้าที่และมารยาทที่ต้องแสดงออก และคุณสมบัติที่ดีทางจิตใจ เช่น
1. หน้าที่ต่อพระเจ้า ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตัวเองอยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงมองเห็นอยู่ตลอดเวลา จึงต้องทำแต่ความดี มีมารยาท และละเว้นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติของพระองค์
2. หน้าที่ของผู้รู้ ครูและผู้รู้โดยทั่วไป จะต้องสำนึกอยู่เสมอว่า ความรู้ที่ตนได้มานั้น เป็นไปโดยความเมตตาของผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงประทานให้ ดังนั้น จึงต้องเผยแพร่ต่อให้ผู้อื่น ให้ได้รับความรู้ โดยไม่มุ่งหวังอามิสสินจ้างใดๆ ทั้งสิ้น และไม่นำความรู้ ไปสร้างสมบารมี หรือนำความรู้ไปแข่งขันกับใคร หรือทับถมผู้รู้อื่นๆ หรือหาประโยชน์อันมิชอบ
3. หน้าที่ของผู้ไม่รู้ ผู้ไม่รู้จะต้องศึกษาเพื่อจะได้มีความรู้ ความรู้มิได้จำกัดแต่เฉพาะความรู้ทางด้านสามัญ หรือ ศาสนา ด้านใดด้านหนึ่ง มุสลิมจะต้องเรียนรู้ความรู้ทั้งสองด้าน จนสามารถนำความรู้ความสามารถ ไปประพฤติทางด้านศาสนาอย่างดี และนำความรู้ด้านสามัญหรือวิชาชีพ ไปประกอบสัมมาอาชีพต่อไป และผู้เรียนรู้ทุกคน จะต้องให้ความเคารพต่อผู้สอน มีความนอบน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพ อ่อนโยน และคอยอุปถัมภ์ผู้สอนของตนอยู่เสมอ
4. หน้าที่ของลูก ลูกทุกคนมีหน้าที่ต้องระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ ต้องมีความกตัญญูกตเวทิคุณ ต่อท่านทั้งสอง ต้องคิดอุปการะท่านทั้งสอง ไม่ปล่อยให้ท่านทั้งสองต้องเดียวดาย อยู่กับความเหงา และต้องปรนนิบัติท่านทั้งสอง เป็นอย่างดีที่สุด
5. หน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่มีลูก ก็ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างดี ให้การดูแล ให้ความสุข ให้การศึกษา คอยอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นคนดี มีมารยาท ไม่ปล่อยปละละเลยต่อลูก จนขาดความอบอุ่นทางจิตใจ เตลิดออกไปหาความสนุกสนานนอกครอบครัว พ่อแม่ต้องสร้างสถาบันครอบครัว ให้เป็นความหวังของลูก เป็นสวรรค์ของลูก อย่าทำให้เป็นนรกของลูก
6. หน้าที่ของเพื่อน คนทุกคนมีเพื่อน ไม่ว่าเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมหมู่บ้าน จนถึงเพื่อนร่วมโลก ทุกคนต้องหวังดีกัน มีความประพฤติที่ดีต่อกัน ไม่ดูถูก ไม่เกลียด ไม่อาฆาตแค้น ไม่ทับถมหรือทำลายใคร ต่างคิดที่จะอยู่ร่วมกัน อย่างมีความสุข
7. หน้าที่ของสามี ทั้งสามี - ภรรยา จะต้องมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกัน กล่าวคือ สามีต้องรับผิดชอบ ในด้านการปกครองครอบครัว และการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว และสามีจะต้องเป็นที่พึ่งของครอบครัว มีความประพฤติที่ดีงาม ต่อคนในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่คนในครอบครัวโดยสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งครอบครัวออกไปหาความสุขนอกบ้าน และต้องตักเตือนและสอนภริยาและคนในครอบครัว
มีคุณลักษณะที่มุสลิมต้องละเว้นอยู่มากมาย ล้วนเป็นข้อห้ามที่อิสลามได้บัญญัติไว้ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. เกี่ยวกับคุณลักษณะด้านร้ายทางจิตใจ ซึ่งเมื่อใครมี หัวใจของเขาก็จะมือดบอด เช่น ความโกรธ ความอิจฉา ริษยา ความเกลียดชัง ความตระหนี่ ความโลภ ความยะโส ความลำพอง ความโอ้อวด เป็นต้น
2. เกี่ยวกับความประพฤติโดยทั่วไป เช่น ความฟุ่มเฟือย การพูดมาก ความเกียจคร้าน การเอารัดเอาเปรียบ การดูถูกคนอื่น การรังแกผู้อื่น การฉ้อโกง การนินทาใส่ร้าย ส่อเสียด การลักขโมย การปล้น การฉกชิงวิ่งราว การล่วงประเวณี การพนัน การประกอบอาชีพทุกจริต การดื่มสุราและของมึนเมา การกินดอกเบี้ย การเสียดอกเบี้ย เป็นต้น
3. เกี่ยวกับคุณลักษณะและความประพฤติที่มีผลต่อการศรัทธา ซึ่งข้อห้ามเหล่านี้ มีผลทำให้ผู้ประพฤติหรือมีอยู่ ต้องสิ้นสภาพอิสลามทันที เช่น การนับถือสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ การกราบสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮฺ กระทำการอันเป็นการเหยียดหยาม ต่ออัลลอฮฺ ต่อมลาอีกะฮฺ ต่อศาสนทูต ต่อคัมภีร์ ต่อบทบัญญัติทางศาสนา ประวิงการเข้าอิสลามของผู้อื่น ใช้คำพูดกล่าวหามุสลิมว่า มิใช่มุสลิม การเชื่อโชคลาง ของขลัง ปฏิเสธอัลกุรอาน เป็นต้น
สรุป
การเรียนรู้ศาสนาที่แท้จริง ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจกับหลักพื้นฐาน 3 ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว
ความรู้ที่ถูกต้อง จะนำไปสู่ความศรัทธา ความศรัทธาที่แท้จริง จะนำไปสู่การปฏิบัติ อย่างสม่ำเสมอ จะเพิ่มพูนให้เกิดคุณธรรม จริยธรรม
นั่นคือ ก่อให้เกิดความสำนึกในคุณธรรม จริยธรรม ต่อพระเจ้า ผู้ทรงสร้างและประทานปัจจัยต่างๆ แก่เรา ความสำนึกในหน้าที่ต่อตนเอง ต่อผู้รู้ ต่อผู้ไม่รู้ ต่อพ่อแม่ ต่อลูก ต่อเพื่อบ้าน ต่อคู่ครอง ต่อผู้นำ ต่อผู้ตาม ต่อผู้ลำบากยากไร้ และต่อประเทศชาติโยส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความสันติสุขของสังคม ประเทศชาติ และทั่วโลก ตามความหมายของคำว่า "อิสลาม" ซึ่งหมายถึง ความสันติสุขอันถาวร

อัสลามุอะลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮอฮีวาบารอกาตุฮฺ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แผนการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา ชั้น ป.1