Zakat Wajib 2

สิ่งที่จะต้องบริจาคเป็นซะกาต ได้แก่
1. ทองคำ เงินแท่ง และเงินตรา
2. รายได้จากปศุสัตว์
3. รายได้จากพืชผล
4. รายได้จากธุรกิจการค้า
5. ขุมทรัพย์

* หลักการอิสลามได้กำหนดจำนวนที่แน่นอนว่าสิ่งดังกล่าวนั้นจะต้องมีเกินจำนวนเท่าใด จึงจะต้องบริจาคเป็นซะกาต และแต่ละชนิดนั้นจะต้องบริจาคเป็นจำนวนเท่าใด
เช่น เงินตราที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หากเก็บสะสมไว้เกินราคาของทองคำหนัก 85 กรัม หรือ 5.67 บาท จะต้องบริจาคเท่าอัตราของเงินและทองคำ คือเท่ากับ 2.5 %
แต่เฉพาะเงินตราที่ตั้งจำนวนกำหนดที่จะต้องออกซะกาตไม่ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาทองคำในปีนั้น ๆ ซึ่งนับว่าเป็นความยุติธรรม เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ตัวบ่งชี้อย่างดีคือราคาทองคำนั่นเอง หลักการอิสลามที่วางไว้ตั้งแต่เมื่อ 1400 กว่าปี ที่ผ่านมาจึงยังคงไม่ล้าสมัย และยังคงเป็นหลักการที่ยืนหยัดต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์สืบต่อไป
ตัวอย่างการบริจาคซะกาตเงินตรา
สมมุติว่าปีนี้ทองคำมีราคา 6,000 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ผู้ที่มีเงินตราเก็บไว้ครบรอบปีและเกินจำนวนที่กำหนดไว้ คือเกินกว่าราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือ 5.67 บาท ต้องบริจาค 2.5% ของจำนวนเงินตราที่มีอยู่ คือ
6,000 x 5.67 = 34,020 บาท
ต้องบริจาค 2.5% = 850.50 บาท
ฉะนั้น ผู้ที่มีเงินตราสะสมไว้ครบรอบปีในปีนี้เกินกว่า 34,020 บาท ก็จะต้องบริจาค 2.5% ของจำนวนเงินตราที่มีอยู่
บุคคลที่พระองค์อัลเลาะห์ (ซ.บ) ได้กำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ให้เป็นผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับซะกาต มี 8 ประเภท คือ
1. คนอนาถา (ฟะกีร) ได้แก่บุคคลไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากขาดสมรรถภาพบางประการในร่างกาย จำเป็นต้องได้รับการอนุเคราะห์
2. คนขัดสน (มีสกีน) ได้แก่ผู้ที่มีความสามารถจะเลี้ยงชีพได้แต่ขาดแคลน เนื่องจากความยากจน เช่น แม่หม้ายที่สามีตายต้องเลี้ยงลูกกำพร้าตามลำพังโดยที่ไม่มีทรัพย์สมบัติ
3. ผู้รวบรวมและจ่ายซะกาต ได้แก่เจ้าหน้าที่ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นให้รวบรวมเก็บซะกาตไปแจกจ่ายแก่บุคคลหรือองค์การที่พึงได้รับ ซึ่งแสดงว่าการรวบรวมและการแบ่งทรัพย์นี้ต้องอาศัยองค์การกลาง ซึ่งเรียกว่า บัยตุลมาล คือคลังเก็บสิ่งที่ได้จากการรับซะกาต (คลังซะกาต)
4. ผู้ที่ควรแก่การปลอบใจ ได้แก่ผู้ที่จะมาหรือได้รับนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อเข้ามาใหม่ ๆ ก็อาจจะอัตคัตขาดแคลนด้วยถูกตัดญาติจากพ่อแม่พี่น้อง จึงสมควรได้รับการอุปการะ หากเป็นผู้มั่งคั่งก็ไม่ต้อง
5. เชลยหรือทาส ซึ่งไม่สามารถไถ่ตนเองได้ แสดงถึงการที่อิสลามช่วยในการเลิกทาส
6. ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบสัมมาอาชีวะ แต่หารเป็นหนี้จากการเสียพนัน การใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ฯลฯ ไม่จัดอยู่ในประเด็นที่จะนำซะกาตไปไถ่ถอน
7. ผู้เดินทาง ที่มีความจำเป็นต้องรับการช่วยเหลือ เช่น ขาดปัจจัยในการเดินทางกลับมาตุภูมิของตน
8. การบริจาคในแนวทางของอัลเลาะห์ (พี สบีลิลลาฮ์) ในประเด็นนี้กว้างมาก นั่นคือในกิจการกุศลทั่วไป เช่น นำไปสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สาธารณสถานต่าง ๆ ปกป้องประเทศขจัดความไม่รู้หนังสือ ฯลฯ
ควบคู่กับการบริจาคทานนี้ อิสลามห้ามอย่างเด็จขาดในเรื่อง"ดอกเบี้ย" เพราะการบริจาคทานเป็นการสงสารมนุษย์เท่าใด ดอกเบี้ยก็เป็นการกำจัดการสงสารมากขึ้นเท่านั้น


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แผนการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา ชั้น ป.1